2 ก.ย. 2023 2 min read

กฏและเทคนิค 17 ข้อ ของการแบ่งหุ้น

การแบ่งหุ้นกันระหว่างหุ้นส่วน เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ มันมีหลักการที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้�

กฏและเทคนิค 17 ข้อ ของการแบ่งหุ้น
Photo by Austin Distel / Unsplash

กฏและเทคนิค 17 ข้อ ของการแบ่งหุ้น

การแบ่งหุ้นกันระหว่างหุ้นส่วน เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ มันมีหลักการที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้กัน

ยิ่งคนที่ไม่เคยทำธุรกิจมาก่อนหรือเพิ่งเริ่มต้น ต้องเคยติดกับดักความผิดพลาดนี้กันมาแล้วทั้งนั้น

ความเสียหายจากการแบ่งหุ้นผิดพลาด มีตั้งแต่การผิดใจกัน กระทบความสัมพันธ์

จนกระทั่งทำให้ธุรกิจชิบหาย เพราะผู้ก่อตั้งวงแตกแยกทางกัน

Source : Netflix

ผมเคยมีประสบการณ์เรื่องนี้โดยตรงมาหลายรอบ เป็นที่ปรึกษาให้ founders หลายคน หลายบริษัท

อยู่ในความขัดแย้งเรื่องนี้ก็หลายเคส เลยอยากสรุปกฏเหล็ก 20 ข้อเกี่ยวกับการแบ่งหุ้น เผื่อจะช่วยลดปัญหาเรื่องนี้

1. อย่าหวงหุ้น ถ้าเราอยากเติบโต 

อย่างแรกเลย ต้องเปลี่ยน mindset ก่อนครับ

บริษัทเราตั้งใหม่ ไม่ได้มีมูลค่าอะไรเลย เพราะยังไม่มีลูกค้า ยังไม่มี product ยังไม่มีรายได้

แต่คนส่วนใหญ่ชอบคิดเข้าข้างตัวเองว่าจะสำเร็จเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่

ซึ่งมันอาจจะเป็นได้ในอนาคต แต่ตอนนี้มันยังไม่ได้เป็น

เลยเกิดการหวงหุ้น ไม่อยากจะแบ่งให้ใคร เพราะคิดว่ามันมีมูลค่าสูง และกลัวเสียอำนาจการบริหาร

จะมีประโยชน์อะไร ถ้าเราถือหุ้น 100% ของ Nothing company

สู้เอาไปใช้เป็นเครื่องมือสร้างความเติบโตให้ธุรกิจดีกว่า

บริษัทที่เติบโตและประสบความสำเร็จ คือ ผู้ก่อตั้ง ใช้หุ้นเป็นเครื่องมือตอบแทนคนที่ใช่ ในวิธีการที่ถูกต้อง

Jeff Bezos ผู้ก่อตั้ง Amazon.com ถือหุ้นอยู่ เพียง 9.7% ในปัจจุบัน

Mark Zuckerberg ถือหุ้น Meta หรือ Facebook เดิม อยู่ 13%

Elon Musk ก็ถือหุ้น Tesla อยู่ราวๆ 13% เช่นกัน

ทุกคน มีสิทธิ์ มีอำนาจในการตัดสินใจ ทั้งจากตำแหน่งบริหาร และตำแหน่งบอร์ด

ที่อเมริกา มีหุ้นประเภทต่างๆที่มีสิทธิ์ในการออกเสียงโหวตไม่เท่ากันได้

แม้ในไทยจะไม่มีตัวเลือกด้านหุ้นเยอะขนาดนั้น แต่ก็สามารถเขียนเป็นเงื่อนไขบังคับในสัญญาผู้ถือหุ้น (Shareholders' agreement) ได้เช่นกัน

2. ใครบ้างที่จะมีส่วนได้เสียในความสำเร็จของบริษัท และควรได้หุ้นเป็นการตอบแทน

เช่น

- Co-founder ลงทุนด้านวิสัยทัศน์ธุรกิจ ไอเดีย และต้องทำให้เกิดขึ้นจริง

- คนแรกๆที่สามารถให้เงินทุนตั้งตัวคือ เพื่อนฝูงและครอบครัว

- พนักงานยุคก่อตั้ง (Early employee) ที่ยอมสละเวลา เอาความรู้ ความสามารถ มาช่วยบริษัทเล็กๆ ที่ยังไม่รู้อนาคตของเรา

- ที่ปรึกษา คนที่คอยแนะนำช่วยเหลือ ถ้าคำแนะนำมีประโยชน์จริง ช่วยเหลือเราได้จริง แต่เราอาจจะไม่เงินจ้างเค้า เพราะคนเหล่านี้ค่าตัวแพง ก็ควรหาทางอื่นตอบแทน เช่น แบ่งหุ้นให้

- นายทุน นักลงทุนต่างๆ ที่ให้เงินลงทุนกับบริษัทเรา

- พารทเนอร์ ที่ทำงานช่วยเหลือกัน และเราอยากให้เค้าช่วยเราไปนานๆ เช่น เทคโนโลยีพารทเนอร์ที่ช่วยพัฒนาโปรแกรม พารทเนอร์การขายที่ขายเก่งๆ และทุ่มเททรัพยากรมาช่วยขายของให้เรา

คนมีเงิน กับ คนมีสมอง เป็น visionary ขายของเก่ง เพื่อนฝูงเยอะ เข้าหาคนเก่ง หรือกับคนละเอียด เอาใจใส่ปฏิบัติเก่ง ดูแลงานหลังบ้าน ดูแลคนเก่ง

ต้องตีโจทย์ว่าคุณสมบัติไหนที่ให้คุณค่ากับบริษัทเท่าไหร่ (ตี value ออกมาเป็นมูลค่าและน้ำหนัก)

Source : Netflix

3. สัดส่วนหุ้นตั้งต้น ของแต่ละคน เพื่อให้เห็นภาพนะครับ ขอใช้ตัวเลขที่เป็น Best Practice ที่นิยมใช้กัน

- หุ้นพนักงาน (Employee stock option pool) มักจะกันไว้ที่ราวๆ 10-15% ไม่เกินนี้

- ที่ปรึกษา เริ่มต้นที่ 0.5-1%

  • ถ้าช่วยเราประจำทุกเดือน ก็บวกให้อีก 0.5% ถ้ามี network กว้างขวาง ช่วยเราได้เยอะ ก็บวกไปอีก 0.5%
  • มากสุดที่ควรให้ที่ปรึกษา คือ 5% ไม่เกินนี้ ถ้าใครให้หุ้นที่ปรึกษาเกิน 5% นี่ผิดปกติละครับ
  • Co-founder หลายคนไม่มีประสบการณ์แบ่งหุ้นมาก่อน เจอที่ปรึกษาเรียกขอหุ้น 10-20% ถือเป็นข้อผิดพลาดที่ใหญ่มาก เพราะบริษัทต้องขับเคลื่อนด้วยคนทำงานแบบถวายชีวิต ไม่ใช่คนให้คำแนะนำเฉยๆ แต่ไม่ได้มาเหนื่อยทำงานแบบเรา
4. กฏเหล็กข้อสำคัญ หลีกเลี่ยงการแบ่งหุ้นกันแบบหารเท่า (Equal Split) 

เช่น 50/50 - มึงเพื่อนรักกู กูรักมึง เราแบ่งเท่ากันแฟร์ๆ

ดูเหมือนแฟร์ครับ ที่สำเร็จก็มี แต่เคสแบบนี้ส่วนใหญ่ มักจะวงแตกกันในภายหลัง

5. ข้อเสียของการแบ่งหุ้นเท่า คือ ไม่มีคนเคาะได้ เวลามีปัญหาจะติดลูปครับ เพราะเสียงเท่ากัน โดยเฉพาะถ้าจำนวนหุ้นส่วนเป็นเลขคู่ มีโอกาสเกิดปัญหาได้

ตอน Steve Jobs ก่อตั้ง Apple ร่วมกับ Steve Wozniak ทั้ง 2 คน แบ่งหุ้นเท่ากัน คือ 45% และไปชวน co-founder คนที่ 3 ชื่อ Ron Wayne เข้ามาด้วย

หนึ่งในเหตุผลหนึ่งคือ เอาไว้เป็นคนตัดสิน ถ้า Jobs กับ Woz ทะเลาะกัน หรือตกลงกันไม่ได้

ถ้าเคสที่ Co-founder สำคัญพอๆกัน ให้แบ่งแบบมีคนเสียงข้างมากครับ เช่น 51% กับ 49%

6. หลักการแบ่งหุ้นที่เหมาะสมที่สุด แบบเท่าเทียมและแฟร์ คือ แบ่งตามคุณค่า ที่มีกับบริษัท 

เท่าเทียม ไม่ได้แปลว่าเท่ากันนะครับ เพราะแต่ละคนจะให้คุณค่ากับบริษัทได้ไม่เท่ากัน

คุณค่า มีตั้งแต่ความทุ่มเท แรงงาน เงินลงทุน เวลา ทรัพยากรต่างๆ ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ ชื่อเสียง คอนเนคชั่น อะไรก็ได้ที่สร้างคุณค่าให้กับบริษัท ควรถูกตีมูลค่าออกมาให้ครบทุกด้านทุกมุม โดยมีน้ำหนักที่แตกต่างกันไป

ปัจจัยแต่ละข้อ เราเรียกว่า “Contribution Multipliers”

โดยไม่เกี่ยงเรื่องเวลา จะเข้ามาร่วมช้าหรือเร็ว

7. หน้าที่ ตำแหน่ง ความรับผิดชอบ (Role & Responsibility) เช่น ตัวหลักที่ต้องขับเคลื่อนธุรกิจ คือ Co-founder ทั้งหลาย 

ตำแหน่ง C ต่างๆ ก็มีน้ำหนักแตกต่างกันไป เช่น CEO อาจจะมากหน่อย และสมควรจะได้หุ้นเยอะสุด เพราะต้องทำหน้าที่หลายอย่างที่บริษัทไม่มีคนทำ

Startup เรามักจะเรียก CEO กันเล่นๆว่า Chief Everything Officer ที่ทำทุกอย่างจริงๆ

8. ความทุ่มเท หรือ ที่เราเรียกกันว่า contribution & commitment เหมือนเป็นคำมั่นสัญญาว่าเราจะทำมากน้อยแค่ไหน ทำแบบ full time หรือทำแบบ part time หรือหลังเลิกงานประจำ อะไรก็ว่าไป

คนที่ลาออกจากงานประจำ มาทำงานให้บริษัทแบบ Full time คือ คนที่รับความเสี่ยงสูงมาก ความมั่นคงก็ไม่มี บริษัทจะไปรอดหรือไม่รอด ก็ยังตอบไม่ได้ ยิ่งบางคนมีภาระ มีหนี้สิน ชีวิตยิ่งเสี่ยง

การแบ่งหุ้นจึงต้อง reward คนที่เสียสละความมั่นคงในชีวิต มาทุ่มเททำอะไรเสี่ยงๆครับ

9. ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน คำกล่าวนี้มีความหมายลึกซึ้ง ใครจริงจัง เลเวลไหน ทุ่มเทแค่ไหน ต้องดูยาวๆ เราต้องใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Vesting เข้ามาช่วย

แม้ว่า co-founder อาจจะรู้จัก สนิทสนมเป็นเพื่อนกัน ไว้ใจกัน แต่ถ้าไม่เคยทำงานด้วยกันมาก่อน จำเป็นอย่างมากที่แต่ละคน ต้องพิสูจน์ตัวเองให้อีกฝ่ายเห็นครับ

ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน จึงเป็นอะไรที่สำคัญมากต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวของธุรกิจ ไม่ใช่ว่าคิดไอเดียเด็ด ลงมือทำ จะการันตีอะไรได้

การทำธุรกิจ หนทางไม่ได้ง่าย อาจเกิดปัญหาระหว่างทางได้ตลอด มันต้องผ่านอะไรกันอีกเยอะ บางคนถอดใจ หมดใจ เหนื่อยใจ ท้อใจ บางคนต้องไปเรียนต่อ บางคนแต่งงานมีครอบครัว

10. Vesting คือ การทะยอยให้หุ้นตามเวลาเพื่อจูงใจให้ทีมหรือ Co-founder ให้อยู่ทำงานให้บริษัท นานจนถึงระยะเวลากำหนด ถึงจะเริ่มได้หุ้น (ระยะเวลานี้จะเรียกว่า Cliff) 

การทะยอยให้หุ้น คิดง่ายๆเหมือนผ่อนจ่ายหุ้นให้กลุ่มผู้ก่อตั้ง ไม่ได้ให้ไปเลยครั้งเดียว

ต้องมีกำหนดให้ชัดเจนว่าปีที่ 1 เอาหุ้นให้ กี่ % จนถึงปีที่กำหนด ทุกคนที่ยังเหลืออยู่ ก็จะได้หุ้นเต็มโควต้าที่ตกลงกันไว้

Vesting เป็นเหมือนแรงจูงใจให้อยู่ทำงานต่อไป และ Cliff เป็นเหมือนตัวพิสูจน์ว่า แต่ละคนเอาตัวเองเข้าแลกแค่ไหน

ไม่ใช่ว่าได้เงินเข้ามา แบ่งเงิน แบ่งหุ้น จบ แล้วแยกย้ายกันไป

ต้องพิสูจน์และวัดใจกันหน่อย ว่าใครยอมเอาอนาคตและเวลาของตัวเองมาแลก โดยไม่รีบชิ่งไปไหน

11. กับดักความผิดพลาดที่มักจะพลาดกันเยอะๆ คือ การแบ่งหุ้น จบกันไป ตั้งแต่วันแรก 

พอหุ้นแบ่งกันไปแล้ว คนที่แบกต่อ คือ คนที่ยังทำบริษัทนั้นอยู่ แต่เพื่อนหลายคนไม่อยู่แล้ว ความไม่แฟร์จะเกิดขึ้นทันที

12. การแยกสัดส่วนความเป็นเจ้าของ กับ สัดส่วนผลตอบแทนออกจากกัน

ข้อนี้คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่า ถือหุ้นสัดส่วน เช่น 40% ก็จะได้ผลตอบแทน 40%

หลายครั้ง ก็จะทำให้เกิดปัญหาจนนำไปสู่รอยร้าวของความสัมพันธ์ระหว่าง co-founder จนทำให้ทีมแตกได้

เช่น ถ้ามีรายได้เข้าบริษัท 10 ล้าน ซึ่งมาจากความทุ่มเทของเรามากกว่าอีกคน เราควรได้มากกว่าสิ แต่บังเอิญ เราถือหุ้นน้อยกว่า

ถึงตรงนี้ เราก็จะลังเลแล้วว่า งานต่อไป เราจะยังควรทุ่มเทเพื่อหารายได้อีกมั้ย เพราะจะขายได้มากน้อย อีกคนจะได้ประโยชน์กว่าเราเสมอ

บางเคส หุ้นส่วนมีผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น เปิดบริษัทรับงานเอง หรือเอางานบางส่วนออกไปทำเองส่วนตัว เพราะได้ผลประโยชน์ตอบแทนเยอะ และอาจจะเป็นคนทำเยอะ ทำไมต้องแบ่งคนอื่น

ความคิดแบบนี้ จะมีก้องเข้ามาในหัวเป็นระยะๆ ถ้าเค้ารู้สึกว่าผลตอบแทนในการทำงานไม่แฟร์

คำแนะนำคือ ให้คุยแยกเป็น 2 ส่วนครับ หุ้น คือ ownership อำนาจตัดสินใจ และ incentive คือ รางวัลของคนที่ทำงานสำเร็จ เช่น ใครขายได้ ก็อาจจะได้โบนัส ได้คอมมิสชั่น ได้ค่าตอบแทนเพิ่ม

การแยก ความเป็นเจ้าของ (ownership) ออกจาก ผลประโยชน์ (incentive) ออกจากกัน

ทำให้การถือหุ้นน้อยแต่อาจจะได้ผลตอบแทนมากกว่าได้ ตัดปัญหาเรื่องความโลภ สร้างรอยร้าวออกไป

13. สัดส่วนหุ้นของนายทุนหรือนักลงทุนต่างๆ ว่าลงเงินเท่านี้ ควรได้หุ้นเท่าไหร่ 

จะรู้ตัวเลข % หุ้นได้ ต้องมีมูลค่าบริษัทหรือ Valuation ในใจก่อน

บริษัทที่ยังไม่ได้เริ่มหรือเพิ่งตั้ง (Early stage company) ไม่รู้จะหามูลค่าจากไหน รายได้ไม่มี มีแต่รายจ่าย

การทำ Financial Projection เป็นสิ่งที่ ช่วยให้เรามองตรงนี้ได้ชัดเจน แม้ว่า 99% ของ Projection เป็นการนั่งเทียนล้วนๆ แต่เราก็ต้องคิดให้สมเหตุสมผล แบบโลกสวย ให้เก็บไว้ฝันหวานคนเดียว ให้มองตามสภาพคสามจริงและแบบแย่สุดๆ ขายไม่ได้ตามที่คิดว่าจะแย่ขนาดไหน

สุดท้ายจะได้ตัวเลขออกมาที่พอจะบอกได้ว่า ถ้ามีคนมาลงเงินเท่าไหร่ ควรจะได้หุ้นเท่าไหร่

14. การแบ่งหุ้นแบบ Dynamic Equity แก้ปัญหาสัดส่วนการถือหุ้นไม่เหมาะสม เมื่อบริษัทเติบโตขึ้น

เช่น แบ่งหุ้นตอนแรก Co-founder ถือกัน 51%

นักลงทุน ถือกัน 49%

เคสนี้เกิดบ่อย เพราะนายทุน เจ้าของเงินคิดว่าตอนเริ่มต้นบริษัท เงินคือสิ่งที่ทำให้ธุรกิจนี้เริ่มต้นขึ้นมาได้

ดังนั้นเค้าจะเรียกเอาสัดส่วนหุ้นเยอะมาก อำนาจต่อรองสูง พวกเอ็งไม่มีเงินก็ทำไม่ได้

แต่พอบริษัทเติบโต ขยายธุรกิจ จากการทำงานที่เหน็ดเหนื่อยมากของบรรดา Co-founder

แต่สัดส่วนหุ้นยังเท่าเดิม คือทำแทบตาย ได้หุ้นพอๆกับคนลงเงินอย่างเดียว

อันนี้ก็ผิดครับ เพราะเมื่อเวลาผ่านไป บริษัทเติบโตขึ้น ผลตอบแทนควรไปอยู่กับคนที่ทำให้มันโตขึ้นมาได้

ความไม่แฟร์จะเกิดขึ้น Co-founder จะเริ่มรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ

พอมีความคิดแบบนี้ ก็จะเริ่มขาดแรงจูงใจ มองหาอะไรอย่างอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดี คุ้มเหนื่อยกว่า

บริษัทก็จะตกอยู่ในภาวะถดถอย เพราะคนขับเคลื่อนหมดใจ

ดังนั้น ควรออกแบบการให้รางวัลตอบแทนดีๆ และรักษาความแฟร์

นายทุนก็ต้องเข้าใจในจุดนี้ ไม่ใช่ว่าถือหุ้นเท่าเดิมตลอดไป

แต่ควรให้ Co-founder มีความเป็นเจ้าของบริษัท (Onwership) มากขึ้น โดยการขายหุ้นคืนให้จำนวนหนึ่ง ในราคาที่ควรเขียนกำหนดไว้ในสัญญาผู้ถือหุ้น (Shareholders' Agreement)

หุ้นจำนวนนี้เอาไว้ใช้ระดมทุนเพิ่มได้ด้วย ยามที่บริษัทขยายตัวเติบโต หรือเงินหมดไม่มีเงินขับเคลื่อนธุรกิจต่อ

15. Cap Table สร้างความชัดเจนของสัดส่วนการถือหุ้น 

ในแต่ละขั้นตอนของการพูดคุยผลประโยชน์ในการแบ่งหุ้น ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ อธิบายได้ ถกเถียงกันให้เรียบร้อยในหลักการ

เมื่อจัดสรรตัวเลขลงตัวเรียบร้อยแล้ว เราจะต้องทำตารางผู้ถือหุ้น หรือ Cap Table ออกมา เพื่อให้ดูชัดเจน ว่าแต่ละคน แต่ละหน้าที่ จะถือหุ้นกันเท่าไหร่ และเมื่อไหร่

ถึงขั้นตอนนี้ จะอุ่นใจขึ้นมาก และพร้อมที่จะไปจดทะเบียนตั้งบริษัท เพื่อ kick-off ธุรกิจกันต่อไป

16. ทำ Cap Table Modeling เพื่อจำลองเหตุการณ์ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นในอนาคต

สัดส่วนการถือหุ้น สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต เช่น มีการระดมทุนเพิ่ม มีการขายหุ้น ของผู้ถือหุ้น

ปกติเราจะมีการทำสิ่งที่เรียกว่า Cap Table Modeling เพื่อจำลองสถานการณ์ว่า ถ้า ระดมทุนได้ สัดส่วนหุ้นที่แต่ละคนถืออยู่ จะลดลง (Dilute) เหลือเท่าไหร่ ในแต่ละรอบของการระดมทุน

เราก็จะเห็นชัดเจนมากขึ้นว่า ถ้ามีคนสนใจมาลงทุนกับเรา ภาพของการถือหุ้นจะเปลี่ยนแปลงไปยังไง

17. รู้จัก Dilution Effect 

ข้อนี้จะมีคนงงเยอะครับ คิดแบบง่ายๆ คือ ถ้ามีการระดมทุนเข้ามา หมายถึงการเพิ่มทุนบริษัท มีหุ้นออกใหม่เพื่อขายให้นักลงทุนที่ลงทุนเข้ามาใหม่ จำนวนหุ้นรวมทั้งหมดเลยสูงขึ้น ดังนั้นสัดส่วนการถือหุ้นของทุกคน คิดเป็น % จะลดลง เพราะตัวหารมันมากขึ้นนั่นเอง

แต่จำนวนหุ้นที่เราถือมันเท่าเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง

จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้น ก็เหมือนพายทั้งก้อนมันใหญ่ขึ้น

แม้ว่าเราจะมี % สัดส่วนการถือหุ้นลดลง แต่ถ้าพายก้อนใหญ่ขึ้น แบ่งแล้วอาจจะใหญ่กว่าพายชิ้นเดิมที่เรามีก็ได้

ความเป็นเจ้าของลดลง แต่ wealth เราอาจจะมากขึ้น

สิ่งที่ควรรู้คือ ในทุกครั้งที่มีการระดมทุนใหม่เข้ามา สัดส่วนหุ้นที่ทุกคนถือ จะถูก dilute ลงไป บางคนก็อยากรักษาสัดส่วนนี้ไว้ ก็ต้องควักเงินซื้อหุ้นใหม่เพิ่มด้วย

ถ้า Co-founder ไม่มีเงินซื้อหุ้นใหม่ สัดส่วนตรงนี้ก็จะลดลงเรื่อยๆ ยิ่งระดมทุนหลายรอบ ก็จะยิ่งลดลงไปเยอะ แบบที่ Jeff Bezos , Mark Zuckerberg และ Elon Musk เจอ

แต่เราจะได้เงินทุนอัดฉีดเข้ามาบริหารธุรกิจให้เติบโตเป็นพายก้อนใหญ่กว่าเดิมแทน

ข้อควรระวังจากเรื่องนี้ คือ การระดมทุนเข้ามาแต่ละรอบ พยายามอย่าเสียสัดส่วนเยอะไป

ถ้าถูก Dilute จนหุ้นที่เราถือมีสัดส่วนน้อยเกินไป แรงจูงใจจะหาย อำนาจในการบริหารอาจจะเปลี่ยนมือ

ทั้งหมดนี้ เป็นหลักการ 17 ข้อ ที่ควรรู้ในการแบ่งหุ้นครับ

Case Study เรื่องการแบ่งหุ้น #1 : Facebook (หรือ Meta)

ปัจจุบัน Mark Zuckerberg ถือหุ้นอยู่ราวๆ 13% แต่ทำไมถึงมีอำนาจรวบคุมทิศทางบริษัทได้เด็ดขาด

เหตุผลที่ทำแบบนี้ได้ เพราะหุ้น Facebook ถูกแบ่งออกเป็น 3 แบบครับ คือ

  1. Class A Shares -> 1 หุ้น 1 โหวต
  2. Class B Shares -> 1 หุ้น มี extra vote = 10 โหวต
  3. Class C Shares -> ไม่มีสิทธ์โหวต

Mark Zuckerberg ถือหุ้น Class B เยอะสุด และเมื่อไหร่ก็ตามที่มีข่าวว่าแกขายหุ้น

หุ้นส่วนที่ขายออกมาทำกำไรเอาเงินเข้ากระเป๋า จะเป็นหุ้น Class C ที่ไม่มีสิทธ์โหวตอะไร

ได้ทั้งเงิน และไม่เสียอำนาจ การควบคุมเสียงในบอร์ดบริหารด้วย

เป็นวิธีการเดียวกับที่ Google ใช้และพี่ Mark แกก๊อปมาอีกที

หลายคนสงสัยว่า ในเมื่อมีสิทธิ์มีเสียงในการควบคุมบริษัทมากมายขนาดนี้ ทำไมไม่จ้าง CEO เก่งๆมาทำงานแทน

ตัวเองจะได้สบาย ไปทำอย่างอื่นได้ ในขณะที่ยังคงมีอำนาจสูงสุดได้อยู่

แต่เพราะในรัฐธรรมนูญบริษัทเขียนเอาไว้ว่า

วันใดก็ตามถ้าพี่มาร์คไม่ได้อยู่ในตำแหน่ง CEO แล้ว

หุ้น Class B ที่พี่แกถืออยู่ จะถูกแปลงเป็น Class A ทันที

Case Study เรื่องการแบ่งหุ้น #2 : Dropbox

การระดมทุนรอบก่อน IPO บริษัทมีมูลค่ากิจการอยู่ที่ 10,000 ล้านดอลลาร์

โดยมีกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่สุด คือ Sequoia Capital ถืออยู่ 23.2% , Accel Partner ถืออยู่ 5%

Arash Ferdowski ผู้ร่วมก่อตั้ง ถือหุ้นอยู่ประมาณ 10%

และตัว Drew Houston ซีอีโอ+ผู้ร่วมก่อตั้ง ถืออยู่ 25.3%

โครงสร้างและอำนาจของผู้ถือหุ้นของ Dropbox เป็นดังนี้

หุ้น DBX มีการแบ่งออกเป็น 2 class คือ Class A และ Class B

1. หุ้น Class A เป็นหุ้นที่นำไปขายในตลาดหลักทรัพย์ตอน IPO

2. หุ้น Class B ถือโดย ผู้ก่อตั้ง คือ Drew Houston และ Arash Ferdowski รวมถึงนักลงทุนรายใหญ่อย่าง Sequoia Capital และ Accel Partners

ความพิเศษของมันคือ หุ้น Class B ได้รับสิทธิ์โหวตสูงกว่าจำนวนสิทธิ์โหวตของหุ้น Class A ถึง 10 เท่า (เหมือนกรณีของ Facebook)

เป็นวิธีการที่ Co-founder ไว้ใช้สิทธิ์ในการควบคุมบริษัท

ลิงค์ดาวน์โหลดเป็น E-Book

  • ถ้าท่านคิดว่าบทความนี้เป็นประโยชน์ สามารถสมัครสมาชิกเพื่อรับคอนเทนต์จากเว็บไซต์ Businessdecode.com ได้ฟรี พร้อมคอนเทนต์พิเศษอื่นๆต่อไป

Newsletter อื่นๆที่น่าสนใจ

Insiderly AI - THเรียนรู้และพัฒนาทักษะด้าน AI , แนะนำเครื่องมือ AI ต่างๆ และแนะนำการใช้งาน AI สร้างธุรกิจให้เติบโต Subscribe

Great! You’ve successfully signed up.
Welcome back! You've successfully signed in.
You've successfully subscribed to Business Decode.
Your link has expired.
Success! Check your email for magic link to sign-in.
Success! Your billing info has been updated.
Your billing was not updated.